น้องๆ คนไหนที่กำลังสนใจจะเข้าศึกษาต่อและทำงานทางด้านสายไอที ซึ่งในปัจจุบันกำลังเป็นต้องการของตลาดแรงงานโลกเป็นอย่างมาก ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ก็ได้รวบรวม 10 สาขาวิชาทางด้านไอทีมาฝากกันด้วย (หวังว่าจะช่วยทำให้น้องๆ ตัดสินใจเลือกเรียนในสาขาที่ชอบได้นะจ๊ะ) โดยในแต่ละสาขาวิชาถือได้ว่าเป็นสาขายอดฮิตและเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากเลยทีเดียว จะมีสาขาวิชาไหนกันบ้าง ตามมาดูกันเลย
10 สาขาน่าเรียนด้าน IT ที่เรียนจบมาแล้วเงินเดือนดีมาก
- สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์
สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) เป็นสาขาวิชาโดยตรงของสายงานทางด้านไอที ซึ่งในสาขาวิชานี้น้องๆ จะได้เรียนเกี่ยวกับการเขียนโค้ด (Coding) การพัฒนาโปรแกรมด้านคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ในส่วน Network Software และ Hardware
โดยอาชีพที่น้องๆ สามารถทำได้หลังเรียนจบก็จะเป็นงานทางด้านไอทีเกือบทุกงานเลย ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมเมอร์ นักวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล เจ้าหน้าที่เทคนิค หรืองานผู้เชี่ยวชาญระบบคอมพิวเตอร์ ฯลฯ - สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ
สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) เป็นสาขาวิชาประยุกต์ที่มีการเรียนการสอนคล้ายๆ กับสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่จะไม่ได้เรียนการเขียนโปรแกรมหรือเจาะลึกด้านระบบมากเหมือนกับวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยที่สาขาวิชานี้จะเน้นให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมเบื้องต้น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเบื้องต้น กราฟิก และศาสตร์อื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ในปัจจุบันสาขาวิชานี้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างมากเลยทีเดียว)
สำหรับน้องๆ ที่เรียนจบในสาขาวิชานี้สามารถประกอบอาชีพทางด้านไอทีได้คล้ายๆ กับสาขาวิชาวิทยาการคอมเตอร์ เช่น นักวิชาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ นักวิเคราะห์และออกแบบระบบงานด้านสารสนเทศ นักพัฒนาเว็บไซต์ เป็นต้น - สาขาเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟ
สาขาเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟ (Game and Interactive Media) เป็นสาขาวิชาที่ได้รวมเอา วิทยาการคอมพิวเตอร์ นิเทศศาสตร์ ศิลปะ การออกแบบ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบเกมและมัลติมีเดีย จะเน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างภาพเคลื่อนไหวและงานทางด้านกราฟิก โดยจะเป็นการใช้เครื่องมือทั้ง Software และ Hardware มาผสมผสานกันให้เกิดเป็นผลงานออกมา
สำหรับบัณฑิตที่จบการศึกษาในสาขาวิชานี้สามารถประกอบอาชีพ ได้ดังนี้ นักพัฒนาเกม ผู้เชี่ยวชาญเกมเอนจิ้น โปรแกรมเมอร์สำหรับเกม นักออกแบบเกม นักออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟิก นักออกแบบเว็บไซต์ รวมไปถึงอาชีพในวงการผลิตภาพยนตร์ วงการโฆษณา วงการสื่อสารมวลชนทั้งภาครัฐและเอกชน อีกด้วย - สาขาสารสนเทศการแพทย์
สาขาสารสนเทศการแพทย์ (Medical Informatics) เป็นอีกหนึ่งสาขาวิชาที่มีความน่าสนใจไม่แพ้สาขาวิชาอื่นๆ เลย โดยในสาขานี้เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับทางด้านเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข วิชาหลักๆ ที่จะได้เรียนก็คือ การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ด้านการแพทย์ และการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ ซึ่งในแต่ละมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนก็จะมีการเรียนชื่อที่ต่างกันออกไป เช่น สาขาสารสนเทศทางการแพทย์ หรือมีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
สำหรับอาชีพของบัณฑิตที่เรียนจบทางด้านนี้จะเป็นอาชีพเฉพาะทาง ได้แก่ นักวิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์ นักวิเคราะห์ระบบด้านการแพทย์และโรงพยาบาล นักพัฒนาระบบสารสนเทศด้านการแพทย์และโรงพยาบาล ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูลด้านการแแพทย์และโรงพยาบาล ผู้ประสานงานโครงการด้านการแพทย์และโรงพยาบาล และยังรวมถึงอาชีพที่เกี่ยวข้องทางด้านนักเวชระเบียน นักเวชสถิติ อีกด้วย - สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ (Business Computer) เป็นอีกหนึ่งสาขาวิชาที่มีน้องๆ สนใจเข้าศึกษาต่อกันเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว เพราะสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจจะเป็นการนำเอาระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับงานด้านธุรกิจและการจัดการ โดยจะเน้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลและระบบในการวางแผนการบริหารองค์กร
สำหรับน้องๆ ที่เรียนจบมาในสาขาวิชานี้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนด้านซอฟต์แวร์ (Support) เจ้าหน้าที่ฝ่าย E–Learning เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารสำนักงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายระบบงานสำนักงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย และเจ้าหน้าที่ฝึกอบรม เป็นต้น - สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) เป็นสาขาวิชาที่จะเน้นเรียนในเรื่องการออกแบบ การสร้าง ทดสอบ วิเคราะห์ จนไปถึงเรื่องการบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์ (Software) อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (Hardware) และเครือข่าย (Network) ที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูล
สำหรับอาชีพในสาขาวิชานี้เราสามารถทำได้ตั้งแต่ วิศวกรคอมพิวเตอร์ วิศวกรระบบความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ นักออกแบบซอฟต์แวร์ รวมไปถึงสายงานด้านออกแบบระบบและงานทางด้านไอทีในทุกประเภท - สาขาวิศวกรรมเครือข่ายและความปลอดภัย
สาขาวิศวกรรมเครือข่ายและความปลอดภัย (Network Engineering and Security) หรือในบางมหาวิทยาลัยก็จะให้ชื่อว่า วิศวกรรมระบบสารสนเทศและเครือข่าย เป็นสาขาวิชาที่เราจะได้เรียนเจาะลึกเกี่ยวกับระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การออกแบบเครือข่าย การดูแลและจัดการระบบเสมือนจริง ความมั่นคงปลอดภัยในเทคโนโลยีเครือข่าย และยังรวมถึงเรื่องการพัฒนาโปรแกรมบนเครือข่าย อีกด้วย
ซึ่งในปัจจุบันเป็นสาขาวิชาใหม่ที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับอาชีพของคนที่จบในสาขาวิชานี้ ได้แก่ วิศวกรเครือข่าย ผู้ดูแลความมั่นคงปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย วิศวกรควบคุมดูแลระบบคอมพิวเตอร์ นักบริหารเครือข่ายคอมพิวเตอร์ นักพัฒนาอุปกรณ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์บนระบบเครือข่าย ฯลฯ - สาขากราฟิกดีไซน์
สาขากราฟิกดีไซน์ (Graphic design) เป็นสาขาวิชาที่น้องๆ จะเรียนเกี่ยวกับการคิดและออกแบบ การจัดองค์ประกอบ การใช้สี การพิมพ์ เช่น งานถ่ายภาพ งานสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโฆษณาทั้ง 2D และ 3D นอกจากนี้ยังจะได้เรียนเกี่ยวกับเครื่องมือต่างๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานออกแบบกราฟิกอีกด้วย
สำหรับน้องๆ คนไหนที่สนใจจะเรียนต่อในสาขาวิชานี้จะต้องเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการที่ดีด้วย อาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น นักออกแบบกราฟิก นักออกแบบเว็บไซต์ นักออกแบบนิทรรศการ และงานด้านการออกแบบที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ - สาขาแอนิเมชันและมัลติมีเดีย
สาขาแอนิเมชั่นและมัลติมีเดีย (Animation and Multimedia) เป็นสาขาวิชาใหม่ที่เปิดโอกาสให้เราสามารถปล่อยไอเดีย ปล่อยความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยในสาขาวิชานี้เราจะเรียนเกี่ยวกับการผลิตสื่อทางมัลติมีเดีย สื่อแอนิเมชัน 2D และ 3D นอกจากนี้เรายังจะเรียนเกี่ยวกับการสร้าง Visual Effect และสื่อสิ่งพิม์ต่างๆ อีกด้วย
อาชีพที่น่าสนใจของน้องๆ ที่เรียนจบมาทางด้านนี้ ได้แก่ นักสร้างแบบจำลอง ศิลปินดิจิทัล นักออกแบบ Special Effect หรือ Visual Effect นักออกแบบคอมพิวเตอร์ นักออกแบบเว็บไซต์ นักออกแบบกราฟิก เจ้าหน้าที่ตัดต่อ VDO ฯลฯ - สาขาวิชาวิศวกรรมนวัตกรรมคอมพิวเตอร์
สาขาวิชาวิศวกรรมนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Innovation Engineering : CIE) เป็นสาขาวิชาที่ได้มีการผสมผสานการเรียนรู้ทางวิชาการ ประสบการณ์และการเรียนรู้ที่เน้นการทำโครงงานและการปฏิบัติจริง ทั้งการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ สู่การสร้างออกมาเป็นนวัตกรรม รวมถึงการปลูกฝังการคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสาร การคิดวิเคราะห์และการประยุกต์ใช้หลายทักษะร่วมกัน ซึ่งจะเน้นการเรียนรู้ทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น เทคโนโลยีคลาวด์ Mobile computing Cybersecurity Big data analytics และ Internet of Things ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัลในอนาคต
ซึ่งผู้ที่เรียนจบทางด้านนี้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถทำงานได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น วิศวกรระบบคอมพิวเตอร์แบบฝังตัว (Embedded) นักออกแบบผลิตภัณฑ์ นักพัฒนานวัตกรรมด้านไอที วิศวกรรทางด้านระบบ Cloud วิศวกรนวัตกรรม ฯลฯ
credit:campus.campus-star.com